Vlovepeugeot ชมรมคนรักเปอโยต์ (เปอร์โยต์) ประเทศไทย  พูดคุยทั่วไป ได้ทุกเรื่อง
Pages: 1
ไอเอ็มเอฟ : ?อัศวินม้าขาว? อาสาพลิกเศรษฐกิจโลก? By: Thailandproject
วันพุธที่ 07 ตุลาคม 2009 เวลา 07:57:36
 :อะหา อะหา:
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ [email protected] กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552
หลังญี่ปุ่นบุกเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหนุ่มที่ชื่อ เท็กซ์ ธอร์นตัน ได้รับมอบหมายให้บริหารกลุ่มนักสถิติในการทำหน้าที่ควบคุมกำลังทางอากาศของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ธอร์นตันได้คัดเลือกกลุ่มบุคลากรที่มีความฉลาด เก่งคณิตศาสตร์ และสุดมั่นใจในความเจ๋งของตนเอง โดยมีรหัสลับของโครงการว่า whiz kids โดยทีมดังกล่าว ประสบความสำเร็จในการทำให้ระบบการขนส่งของกองทัพสหรัฐมีความคล่องตัวสูง จากที่เคยงุ่มง่ามและเชื่องช้า
หลังจากงานแรกประสบความสำเร็จ ทีม whiz kids เลยชักได้ใจจัดการประยุกต์วิธีการดังกล่าวให้กับบริษัทใหญ่ๆ ทั่วอเมริกา เปลี่ยนความคิดของผู้คนทั้งในแง่วิสัยทัศน์ธุรกิจและนโยบายรัฐ ตัว Whiz Kids ที่ดังสุด เห็นจะเป็นโรเบิร์ต แมคนามารา ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
ในปี 1946 ธอร์นตันได้ขายบริการ whiz kids ให้กับเฮนรี ฟอร์ด ในการปรับปรุงประสิทธิภาพบริษัทรถยนต์ของเขา เนื่องจากเฮนรีเพิ่งจะซื้อกิจการดังกล่าว เลยตัดสินใจจ้างกลุ่มผู้บริหารมาจาก เจเนอรัล มอเตอร์ส แล้วเสือสองตัวก็อยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ ธอร์นตันทะเลาะกับกลุ่มผู้บริหารจากดีทรอยต์อย่างรุนแรง เนื่องจากวัฒนธรรมการเล่นพวก ทำให้ธอร์นตันหันไปเปิดบริษัทของตนเองที่ชื่อว่า ลิตตั้น
ธอร์นตันบริหารลิตตั้นภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสามารถควบคุมตัวเลขการทำงานของบริษัท ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร บริษัทก็สามารถอยู่รอดได้ โดยลิตตั้นผลิตและจำหน่าย ทั้งเรือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดไปจนถึงอาหารต่างๆ จนมีอาณาจักรกว้างไกล ขนาดที่สื่อมวลชนอังกฤษในทศวรรษที่ 60 ขนานนามว่า เป็นบริษัทเดียวของอเมริกันที่สามารถเข้ามาอยู่ในใจของชาวอังกฤษได้
ส่วนแมคนามารานั้น ยังคงปักหลักอยู่ที่บริษัทรถยนต์ฟอร์ด ซึ่งในช่วงนั้นนับวันจะมีแต่รุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นถึง "ประธานบริษัท" แต่แล้วก็ทนสิ่งเย้ายวนใจของกลิ่นการเมืองไม่ไหว หันไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามคำเชิญของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ริเริ่มโครงการกำจัดจุดอ่อนของระบบราชการในหน่วยทหารของสหรัฐ และยืนอยู่เคียงข้างประธานาธิบดีเคนเนดีในสงครามปรมาณูกับรัสเซีย
ในทศวรรษที่ 60 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของการวางแผนแบบ whiz kids ทั้งลิตตั้นและกระทรวงกลาโหม รุ่งเรืองภายใต้แนวคิดที่ว่าการจัดการภายใต้เทคนิคการคำนวณ สามารถใช้ได้กับทั้งการสร้างเครื่องบินรบและแกะรหัสนาซี กระหึ่มไปทั้งวงการธุรกิจและการเมือง ถึงขนาดที่สหภาพโซเวียตจะหันมาใช้แนวทางดังกล่าวยึดครองโลก ทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับความยิ่งใหญ่ของทั้งลิตตั้นและกระทรวงกลาโหม องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้รับการไว้วางใจจากการประชุม จี 20 ที่พิตสเบิร์กเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว มอบหมายหน้าที่ในการจัดการบริหารกระบวนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ให้ดูแลการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้เป็นไปโดยที่ไม่สะดุดขาตนเอง
ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากไอเอ็มเอฟ มีทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถสูง นำทีมโดย ดร.โอลิเวียร์ แบลงชาร์ด ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในการวิเคราะห์ทาง ทฤษฎี เกี่ยวกับการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคและการบริหารความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ จากเดิมที่มีเพียงหน้าที่ให้ยืมเงินแก่ประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและคอยกำกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก็ขยับขยายมาทำหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการบริการทางการเงิน หรือ Financial Services Board ที่ตั้งขึ้นจากการประชุมจี 20 ที่ลอนดอนเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งประกอบ
ด้วยนายธนาคารกลางจากประเทศยักษ์ใหญ่ เพื่อคอยเตือนภัยล่วงหน้าหากวิกฤติใกล้มาถึงตัว
โดยส่วนหลัง ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดง จากการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคภายใต้กรอบของการบริหารความเสี่ยง โดยใช้เทคนิคสถิติแบบล้ำยุคในการเจาะลึกถึงระดับความเสี่ยงรายธนาคารว่าจะมีผลต่อระบบธนาคารแค่ไหน และจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงเพียงใด ดังรูป รวมถึงมีส่วนเชื่อมโยงทางการเงิน หรือ financial linkage กับเศรษฐกิจโลกว่าควรที่จะผ่านช่องทางไหน แทนที่การวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจแบบองค์รวม ซึ่งเคยคิดว่าสถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจจะทำตัวแบบเด็กดี ไม่ก่อความเสี่ยงให้กับประเทศจนเกินไป เหมือนในยุค 80 ของ ดร. เบน เบอร์นันเก้ ซึ่งสมมติฐานที่แสนจะมองโลกในแง่ดีดังกล่าว เกือบจะทำให้เขาพลาดการต่ออายุตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลางสมัยที่ 2 เมื่อเดือนที่แล้ว
ล่าสุด การประชุม จี 20 ที่พิตสเบิร์ก ไอเอ็มเอฟได้ขยายบทบาทของตนเองออกไปอีก นั่นคือ คอยสอดส่องเพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนนโยบายหันมาส่งเสริมการเจริญเติบโตระยะยาวของโลก รวมถึงตรวจสอบเงื่อนไขทางการเงินของประเทศ เพื่อที่การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกต้องชะงักงัน ผมจะไม่ขอออกความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่กับนโยบาย ?โลกทั้งใบให้นายคนเดียว? ดังกล่าว แต่จะขอเล่าเหตุการณ์ตอนจบของ whiz kids ต่อ ดังนี้
ทว่าความฝันของ whiz kids ก็ต้องทลายลง ในอีก 7-8 ปีถัดมา มนต์ขลังของลิตตั้นเริ่มเสื่อมลง เริ่มจากราคาหุ้นของบริษัทที่เคยสูงติดดอยจากภาพความหวังของบริษัทอันเจิดจ้า ก็ลดลงฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย เนื่องจากผลการขาดทุนอย่างมหาศาลของบริษัท จนกระทั่งปลายทศวรรษที่ 70 ลิตตั้นก็เกือบถึงจุดล้มละลาย
เมื่ออเมริกาเข้าสู่สงครามเวียดนาม แมคนามาราก็ยังใช้มุกเดิม (เทคนิคการคำนวณเพื่อวางยุทธศาสตร์การรบ) ในการต่อสู้กับพวกเวียดกง แล้วผลการรบก็เป็นอย่างที่ทราบกัน คือ นักวางแผนกลยุทธ์สงครามตามตำรา ก็เสร็จนักรบแบบจรยุทธแบบชกใต้เข็มขัด ที่หนักไปกว่านั้น เมื่อแมคนามาราไปเป็นใหญ่ในธนาคารโลก ความหวังดีที่ทำการทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาประเทศกำลังพัฒนากลับกลายเป็นวิกฤติการเงินจากหนี้ก้อนมหาศาลของประเทศผู้ยากไร้เหล่านี้
ในฐานะของผู้ที่ได้ชื่อว่า ?คนที่ฉลาดที่สุดในยุค 60? กลับออกอาการป้อแป้ไปมาในอีกกว่า 2 ทศวรรษถัดมา แมคนามาราให้ความเห็นกับการล้มเหลวของตนเอง ในช่วงหลังๆ ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โลกของเรามีความซับซ้อนขึ้น (ทั้งในส่วนของ เทคโนโลยี ในวงการรถยนต์ และของวัฒนธรรม ในสงครามเวียดนาม) จากยุคที่เป็นวัยหนุ่มของเขาด้วยอัตราความเร็วที่มากกว่าการพัฒนาวิสัยทัศน์ของคนในยุคเขา จนกระทั่งพวกเขาตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ทัน ผลลัพธ์ ก็คือ ระบบการวางแผนจากส่วนกลางโดยการใช้ข้อมูลตัวเลข เพื่อวิเคราะห์จำต้องศิโรราบต่อระบบตลาดที่มิได้รวมศูนย์ (decentralized) ดังเห็นได้จากวงการรถยนต์ที่ดีทรอยต์ต้องเสียความยิ่งใหญ่ให้กับโตโยต้า และจากที่สหรัฐเคยเป็นพี่เบิ้มในวงการทหาร ต้องมาเสียท่าในสงครามเวียดนาม
มาถึงวันนี้ น่าเสียดายแทนแมคนามารา ที่มิได้มีโอกาสเห็นยุคของการจัดการแบบรวมศูนย์ที่จัดการตามเทคนิคเชิงคณิตศาสตร์ นำโดยไอเอ็มเอฟกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่งคงต้องรอวัดฝีมือกันในทางปฏิบัติ ว่า ไอเอ็มเอฟจะเดินตามรอยของเหล่าบรรดา whiz kids หรือไม่ ซึ่งเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
Re: ไอเอ็มเอฟ : ?อัศวินม้าขาว? อาสาพลิกเศรษฐกิจโลก? By: _takechi
วันพุธที่ 07 ตุลาคม 2009 เวลา 08:49:38
มันขึ้นอยู่กับผู้นำนโยบายไปใช้ครับ