ประสิทธิภาพของเบรคจะดีขึ้นแน่นอนครับ ดีจนบางคนเรียกว่า เบรคจึ๊กเดียวอยู่ครับ เพราะการทำงานของเบรค อาศัยความฝืดที่หน้าสัมผัสของผ้าเบรคกับจานเบรค ผ้าเบรคที่มีพื้นที่หน้าสัมผัสมากกว่า ย่อมต้องมีประสิทธิภาพของความฝืดที่ดีกว่า ในกรณีที่มีเนื้อแบบเดียวกัน แล้วผ้าเบรคที่มีพื้นที่มากขึ้น ย่อมต้องหาจานเบรคที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากขึ้นด้วย เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ให้ผ้าเบรคมาสัมผัสได้มากขึ้น พอมีพื้นที่มาก แรงกระทำจากลูกสูบเบรคชุดเดิมก็จะไม่พอ จึงต้องเพิ่มขนาดลูกสูบให้โตขึ้น เพื่อจะได้มีแรงกดได้มากขึ้นครับ จึงเป็นที่มาของ อาการที่เบรคแล้ว จะรู้สึกว่า ดีขึ้นกว่าชุดเดิมอย่างเห็นได้ชัดเจน ที่มีคนบอกไปก่อนหน้าแล้วว่า อาจจะดีเกินไปในกรณีที่เบรคฉุกเฉิน คือ สัมพันธ์ระหว่างเบรคหน้ากับหลัง เปลี่ยนไปครับ
การที่ใช้เบรคชุดเดิม แล้วไปเปลี่ยนขนาดของหม้อลมช่วยเบรคและขนาดของแม่ปั๊มเบรค ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะหวังว่า เบรคจะดีขึ้น น่าจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนครับ ที่จริง มันแค่ช่วยให้ใช้แรงของเท้าเราน้อยลงเท่านั้น เพราะ มันคือชุดผ่อนแรง ไม่ใช่ชุดที่ทำความฝืดเพื่อต้านการเคลื่อนที่ เพียงแต่ เวลาที่เราใช้แรงที่เท้าเท่าเดิม จะรู้สึกว่าเบรคมันจับแรงขึ้น ก็เนื่องจากการช่วยผ่อนแรงที่มากกว่าเดิมของหม้อลมช่วยครับ ประกอบกับ ในระยะการเคลื่อนตัวของแม่ปั๊มเท่าเดิม แต่มีปริมาณน้ำมันทีมากกว่าเดิม เนื่องจากลูกสูบที่โตกว่าเดิม
การจะทำให้ ประสิทธิภาพของระบบเบรค เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ก็ต้องไม่ลืมเรื่อง สัมพันธ์ระหว่าง หน้ากับหลังด้วย ในรถที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพของเบรคที่ดีมากๆ ก็อาจจะต้องติดตั้งชุดป้องกันการล็อคของล้อเอาไว้ด้วย เพื่อเวลาเบรคฉุกเฉินแล้ว ล้อจะไม่ล็อคตาย ทำให้ยังสามารถควบคุมทิศทางของรถได้
อีกข้อที่ควรจะรู้ ชุดเบรคที่ใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนครับว่า มันจะมาพร้อมกับขนาดและน้ำหนักที่มากขึ้นด้วย ขนาดที่ใหญ่ขึ้น ย่อมต้องการพื้นที่ในการติดตั้ง ทำให้ต้องใช้ล้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตาม และ น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น แต่เปนน้ำหนักที่อยู่ใต้ระบบรองรับ ที่เรียกว่า Unsprug weight มันจะส่งผลให้ มีแรงกระทำต่อระบบรองรับมากกว่า ผลคือ จะรู้สึกสะเทือนเพิ่มขึ้น
ถ้าจะทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเบรค ควรเป็นอย่างยิ่งที่ จะต้องลองขับ และทดสอบให้ดี และคุ้นเคยกับการใช้เบรคทีมีประสิทธิภาพดีๆด้วยนะครับ

